บทความเกษตร » การเพาะเลี้ยงกบนา สำหรับผู้เริ่มต้นทุนน้อย

การเพาะเลี้ยงกบนา สำหรับผู้เริ่มต้นทุนน้อย

15 เมษายน 2023
1145   0

การเพาะเลี้ยงกบนา สำหรับผู้เริ่มต้นทุนน้อย

การเพาะเลี้ยงกบนา

การเพาะเลี้ยงกบนา


ปัจจุบันการเลี้ยงกบนาเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างมาก ทั้งนี้เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาเลี้ยงน้อยและได้รับความนิยมในการบริโภคสูงมากซึ่งในขณะนี้มีตลาดต่างประเทศต้องการสินค้ากบเปิดกว้างมาก กบนาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรไทย จึงมีโอกาสส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากขึ้น

กบนา กบลายเสือ หรือ กบบัว Hoplobatrachus rugulosus (Wiegmam) เป็นกบที่มีลำตัวค่อนข้างกลมรี มีขา 2 คู่ ขาคู่หน้าสั้น คู่หลังยาว ขาคู่หน้ามี 4 นิ้ว ปลายนิ้วเป็นตุ่มกลม ขาคู่หลังมี 5 นิ้ว ระหว่างนิ้วมีหนังเป็นพังผืด ส่วนหัวมีความกว้างมากกว่าความยาว จะงอยปากสั้นทู่ จมูกตั้งอยู่บริเวณโค้งตอนปลายของจะงอยปาก นัยน์ตาโต มีหนังตาเปิดปิดได้ ปากกว้าง มีฟันเป็นแผ่นอยู่บนกระดูกเพดาน กบเพศผู้จะ มีถุงเสียงอยู่ใต้คาง และจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย

แต่เนื่องจากในปัจจุบันกบนาในธรรมชาติมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมากเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วที่อยู่อาศัยของกบนาในธรรมชาติ ถูกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ อีกทั้งความต้องการบริโภคกบนาก็เพิ่มมากขึ้นจึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเลี้ยงกบนาขึ้น เนื่องจากกบนาเป็นสัตว์เลี้ยงง่ายโตเร็ว ประชาชนนิยมบริโภค อีกทั้งตลาดต่างประเทศเปิดกว้างมากขึ้น กบนาซึ่งเป็นกบพันธุ์พื้นเมืองของไทยได้มีโอกาสส่งไปยังต่างประเทศมากขึ้น

การเพาะเลี้ยงกบนา

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กบนาที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 300 กรัม จากลักษณะภายนอกของกบนาเพศผู้ที่มีความพร้อมจะสังเกตเห็นรอยย่นของถุงเสียงที่ใช้ในการส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย มีลักษณะสีเทาดำคล้ำใต้คางอย่างชัดเจนทั้ง 2 ข้างและที่บริเวณด้านในของนิ้วหัวแม่มือของเพศผู้ทั้งสองข้างจะพบแถบหนาสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นปุ่มหยาบ ปุ่มนี้ช่วยให้การยึดเกาะบนผิวหนังที่บริเวณเอวของตัวเมียให้ดีขึ้น ปุ่มจะหายไปเมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ ส่วนกบนาเพศเมียที่มีความพร้อม สังเกตได้จากที่บริเวณเอวมีลักษณะพองโต ท้องอูม และผิวหนังสดใส เมื่อพลิกด้านท้องขึ้นเห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนังชัดเจน ในบางตัวอาจสังเกตเห็นเม็ดไขสีดำและที่ด้านข้างลำตัวทั้งสองข้างเมื่อใช้มือลูบจะมีลักษณะสากมือ เพราะมีปุ่มขนาดเล็กจำนวนมาก ชุ่มนี้จะช่วยให้กบตัวผู้เกาะคู่ได้ดีขึ้น ยิ่งมีความสากมากเท่าใดก็แสดงถึงความพร้อมของเพศเมียมากขึ้นเท่านั้น

การดูลักษณะเพศของกบ

  • กบตัวผู้ จะเห็นกล่องเสียงอยู่ใต้คางทั้ง ๒ ข้าง ขากรรไกรลักษณะเป็นวงกลมสีดำเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้อง ส่วนที่เป็นกล่องเสียงนี้จะพองโปนออกมาและลักษณะนี้จะไม่พบในกบตัวเมีย
  • กบตัวเมีย เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ที่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และกบตัวเมียที่ยังมีไข่อยู่ในท้องจะมีความสากข้างลำตัวทั้งสองด้าน เมื่อใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และเมื่อไข่ออกจากท้องไปแล้วปุ่มสากเหล่านี้ก็จะหายไป

การเพาะพันธุ์

นำพ่อแม่พันธุ์ที่คัดเลือกได้มาใส่ในบ่อเพาะพันธุ์ขนาด 3x4x1 เมตร ในอัตราส่วน ตัวเมีย 1 ตัว : ตัวผู้ 1-2 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร บ่อเพาะพันธุ์ควรเป็นบ่อซีเมนต์ภายในมีพืชไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวาเล็กๆ ใส่ไว้ด้วย ระดับน้ำในบ่อไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร ถ้ามีน้ำมากจะไม่สะดวกในการที่ตัวผู้โอบรัดตัวเมีย และขณะที่ตัวเมียเบ่งไข่

เนื่องจากต้องใช้ขายันพื้น ซึ่งถ้าน้ำมากเกินไปขาหลังจะลอยน้ำทำให้ไม่มีกำลังเป็นเหตุให้ไข่ออกมาไม่มาก และขณะที่กบตัวเมียปล่อยไข่ออกมากบตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกับไข่ทันที เมื่อเห็นว่ากบออกไข่แล้วจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อเพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้แพไข่แตกเนื่องจากการเคลื่อนไหวของพ่อแม่พันธุ์

วงจรชีวิตกบนา

การพัฒนาและการดูแลลูกกบ

ไข่กบนาที่ถูกผสมจะฟักเป็นลูกอ๊อดภายใน 2 วัน โดยในระยะ 2-3 วันแรก หลังจากที่ฟักออกเป็นตัวไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากลูกอ๊อดยังมีถุงไข่แดง (ถุงอาหารสะสม)ที่ติดมากับท้องเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตนเอง หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารลูกอ๊อดครั้งแรกเมื่ออายุ 3 วัน โดยให้รำละเอียดและปลาป่นในอัตราส่วน 3 : 1 ในกรณีที่มีลูกอ๊อดเป็นจำนวนมากอาจเสริมด้วยการให้ไรแดง เมื่อลูกอ๊อดโตขึ้นใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปโรยให้กิน การให้อาหารควรให้ทีละน้อย และวางไว้ตลอดเวลาเพราะลูกอ๊อดจะกินอาหารตลอดวัน ถ้าลูกอ๊อดขาดอาหารจะกินกันเอง ลูกอ๊อดที่มีอายุ 20-30 วัน จึงเป็นลูกกบเต็มวัย ในช่วงนี้ต้องเตรียมไม้กระดาน ทางมะพร้าวหรือแผ่นโฟม ลอยน้ำเพื่อให้ลูกกบเต็มวัยขึ้นไปอาศัย

จากนั้นคัดขนาดลูกกบที่มีขนาดเท่าๆ กันไปเลี้ยงไว้ในบ่อเดียวกันเพื่อไม่ให้ลูกกบกัดกินกันเองโดยระดับน้ำในบ่อเลี้ยง สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร อัตราการปล่อยลูกกบเต็มวัยลงเลี้ยงเป็นกบรุ่นเพื่อส่งตลาดจะปล่อยในอัตรา 50 – 100 ตัว/ตารางเมตร

รูปแบบการเลี้ยงกบ
การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์

  • การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ บ่อซีเมนต์ที่ใช้เลี้ยงกบนาทั่วไปมีขนาดตั้งแต่ 2 x 2.5x 1 เมตร จนถึง 3 x 4 x 1 เมตร บ่อกักเก็บน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร พื้นผิวภายในควรขัดเรียบหรืออาจปู ด้วยแผ่นกระเบื้องเพื่อสะดวกในการทำความสะอาด มีหลังคาหรือสิ่งคลุมปิดบังแสงสว่างบางส่วนเพื่อไม่ให้กบตกใจ และช่วยในการป้องกันศัตรู บ่อแบบนี้สามารถดัดแปลงนำไปใช้ในการเลี้ยงเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่น การเพาะขยายพันธุ์ การอนุบาลลูกอ๊อดและลูกกบเล็ก ราคาค่าก่อสร้างบ่ออาจแตกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะของบ่อ ขนาด 3 x 4 x 1 เมตร ค่าก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-2,500 บาท/บ่อ สำหรับการเลี้ยงจะปล่อยลูกกบตัวเต็มวัยในอัตรา 50-100 ตัว/ตารางเมตร
    การเลี้ยงกบในกระชัง
  • การเลี้ยงกบในกระชัง โดยปกตินิยมเลี้ยงในบริเวณพื้นที่ที่มีบ่อน้ำหรือมีสระน้ำขนาดใหญ่หรือมีร่องน้ำไหลผ่านก็สามารถเลี้ยงกบในกระชังได้ ข้อดีของการเลี้ยงแบบกระชังคือลงทุนน้อยกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ และลดภาระการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ขนาดของกระชังที่เลี้ยงโดยทั่วไปมีหลายขนาด แต่ที่นิยมใช้คือ 1.5 x 3 x 1 เมตร อุปกรณ์สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายวัสดุทางการเกษตรราคาประมาณ 200-300 บาท/กระชัง โดยพื้นที่ใต้กระชังใช้แผ่นยางหรือแผ่นโฟมสอดด้านล่าง เพื่อให้เกิดส่วนนูนในกระชังให้กบขึ้นไปอาศัยได้ ส่วนด้านบนก็มีวัสดุพรางแสงเพื่อไม่ให้กบตื่นตกใจง่าย ควรหมั่นตรวจดูรอยรั่วหรือรอยขาดของกระชังอย่างสม่ำเสมอ กระชังสามารถใช้ในการเลี้ยงได้ดีตั้งแต่การอนุบาลลูกอ๊อด ลูกกบเล็กไปจนถึงขนาดตลาดและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ความหนาแน่นในการเลี้ยงประมาณ 100-150 ตัว/ตารางเมตร

การให้อาหารกบ

ระยะลูกอ๊อดหางหดที่มี 4 ขา เจริญครบสมบูรณ์เรียก ระยะเริ่มขึ้นกระดาน จะให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดเล็กพิเศษ  ที่ใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุกเล็กหรือปลาสดบดละเอียดผสมรำที่เกษตรกรผลิตขึ้นเองในอัตรา 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวรวม และอาหารควรมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 30-35 เปอร์เซ็นต์ วิธีฝึกให้ลูกกบกินอาหาร เมื่อลูกกบอายุประมาณ 2 เดือน ควรให้อาหารเป็นเวลา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ในอัตรา 3-5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักต่อวัน อาหารควรมีโปรตีนอยู่ระหว่าง 28-35 เปอร์เซ็นต์ ชนิดและขนาดของอาหารขึ้นอยู่กับขนาดของกบที่เลี้ยง ถ้าผู้เลี้ยงกบนาอยู่ใกลับริเวณที่สามารถหาปลาสดได้อาจให้ปลาสดบดหรือสับเป็นชิ้นวางในภาชนะปริ่มน้ำ หรือเหนือน้ำหรือใช้ปลาสดบดผสมรำในอัตราส่วน ๓ : 1 หรือให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่ใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุก

อาหารกบ

  • ระยะลูกอ๊อดอายุ 3-6 วัน ให้ไข่ตุ๋นหรืออาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน โปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ ชนิดผงหรือเม็ดผสมน้ำปั้นเป็นก้อน วางกระจายให้ทั่ว
  • ระยะลูกอ๊อดอายุ 6-20 วัน ให้อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน โปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ ชนิดเม็ดลอยน้ำ ให้กินวันละ 3 – 4 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 6 ของน้ำหนักตัวต่อวัน)
  • ระยะกบอายุ 20 – 40 วัน ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบเล็กให้กินวันละ 3 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว)
  • ระยะกบอายุ 40 – 70 วัน ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบรุ่นให้กินวันละ 2 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 3-4 ของน้ำหนักตัว)
  • ระยะกบอายุ 70 วัน  ระยะจับขาย ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบใหญ่ ให้กินวันละ 2 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 2-3 ของน้ำหนักตัว)
  • ระยะกบพ่อแม่พันธุ์ ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบขนาดใหญ่ ให้กินวันละ 2 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 2-3  ของน้ำหนักตัว)

การถ่ายเทน้ำ

การเลี้ยงกบในน้ำสะอาดจะทำให้กบมีการเจริญเติบโตที่ดี ดังนั้นถ้าบริเวณที่เลี้ยงมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ควรถ่ายเทน้ำทุกวันหรือใช้การหมุนเวียนให้น้ำไหลผ่านในระบบน้ำลันตลอดเวลา แต่ถ้าแหล่งน้ำไม่อุดมสมบูรณ์อาจจะถ่ายเทน้ำเมื่อสังเกตว่าน้ำเริ่มมีกลิ่นเน่าเสีย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่ใช้เลี้ยงกบด้วย
การถ่ายเทน้ำกบ

ความถี่ในการถ่ายเทน้ำในบ่อเลี้ยงลูกอ๊อดขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของลูกอ๊อดที่ปล่อยและอาหารที่ใช้เลี้ยง ถ้าเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ควรถ่ายเทน้ำทุกๆ 2-3 วัน จะช่วยให้ ลูกอ๊อดแข็งแรงกินอาหารได้มากและมีการเจริญเติบโตเร็ว วิธีการถ่ายเทน้ำต้องใช้วิธีเติมน้ำใหม่ลงก่อนครึ่งหนึ่ง จากนั้นจึงปล่อยน้ำเก่าออกให้เหลือระดับน้ำเท่าเดิม เลี้ยงลูกอ๊อดในกระชังก็ไม่ต้องถ่ายเทน้ำ เนื่องจากในบริเวณนั้นมีการหมุนเวียนของน้ำเกิดขึ้นได้เองเป็นปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนกระชัง ขนาดของสระหรือบ่อที่ใช้แขวนลอยกระชัง หรือขนาดร่องน้ำและการไหลผ่านของน้ำ ส่วนการถ่ายเทน้ำในบ่อเลี้ยงลูกกบและกบขนาดอื่นๆ ก็ทำได้โดยวิธีเดียวกันไม่ควรปล่อยน้ำในบ่อจนแห้งแล้วจึงเติมใหม่ เพราะกบเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย อาจมีการกระโดดกระแทกพื้นบ่อทำให้กบช้ำและตายได้

โรคกบ

ปัญหาโรคที่เกิดขึ้นนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดทางด้านการเลี้ยงและการจัดการ ทำให้มีการหมักหมมของเสียต่างๆ เกิดขึ้นในบ่อ โดยเฉพาะการเลี้ยงกบในปัจจุบันมักจะเลี้ยงกันอย่างหนาแน่น มีการให้อาหารมาก ประกอบกับการขาดความเอาใจใส่ และไม่เข้าใจในเรื่องความสะอาดของบ่อรวมถึงน้ำที่เลี้ยง โอกาสที่กบจะเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจึงมีมากขึ้น ซึ่งโรคกบที่พบทั่วไป ได้แก่

  • โรคติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงกบมากที่สุดทั้งในระยะที่เป็นลูกอ๊อดและระยะเต็มวัยซึ่งบางครั้งก็พบทั้งในกบขนาดเล็กและขนาดใหญ่องค์ประกอบที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากหรือน้อยคือสายพันธุ์ของเชื้อแบคที่เรียกลุ่ม Aromonas และ Pseudomonas และช่วงระยะของกบที่เป็นโรค อาการของโรคที่พบทั่วไปได้แก่ การเกิดแผลที่มีลักษณะเป็นจุดแดงๆ ตามขาและผิวหนังตามตัวโดยเฉพาะด้านท้องจนถึงแผลเน่าเปื่อยบริเวณปาก ลำตัว และขา เป็นต้นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด โรคคือสภาพบ่อสกปรกมากและเลี้ยงในอัตราที่หนาแน่นเกินไป เมื่อกบเป็นโรคควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกชิเททราไซคลินผสมอาหารให้กบกินในอัตรา 3 – 5 กรัมต่ออาหารกิโลกรัมต่อวัน กินติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือให้กินไม่น้อยกว่าครั้งละ 5 – 7 วัน
    โรคติดเชื้อแบคทีเรียในกบ
  • โรคที่เกิดจากโปรโตซัวในทางเดินอาหาร โดยทั่วไปจะพบในกบเล็กมากกว่ากบโต อาการทั่วไปจะพบว่ากบไม่ค่อยกินอาหาร ผอม ตัวซีด เมื่อตรวจดูในลำไส้จะพบโปรโตซัวในกลุ่ม Opalina sp. และ Balantidium sp. อยู่เป็นจำนวนมาก การติดเชื้อโปรโตซัวในทางเดินอาหารนี้ถ้าเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะทำให้กบตายได้ การป้องกันควรใช้พืชผักเช่น ผักบุ้ง กะเพรานำไปลวกพอนิ่มแล้วให้เป็นอาหารเสริมจนกว่ากบจะมีอาการดีขึ้นและกินอาหารตามปกติ
  • โรคท้องบวม โดยทั่วไปจะเกิดกับลูกอ๊อดในฟาร์มที่ใช้น้ำบาดาล การเปลี่ยนน้ำอย่างรวดเร็วโดยใช้น้ำบาดาลที่ไม่ได้พักไว้ก่อน จะทำให้ความดันก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำลดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน มีผลให้ร่างกายของลูกอ๊อดต้องปรับความดันก๊าซในตัวเองลงมาให้เท่ากับความดันของก๊าซในน้ำ ทำให้เกิดฟองก๊าซขึ้นในช่องว่างของลำตัว ท้องลูกอ๊อดจึงบวมขึ้นมา จึงควรป้องกันโดยระมัดระวังในเรื่องการถ่ายน้ำอย่าเปลี่ยนน้ำในปริมาณมากๆในเวลาสั้นๆ และควรจะมีการพักน้ำและเติมอากาศให้ดีก่อนนำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบาดาล

ต้นทุนในการเลี้ยงกบ

ปัจจุบันการเลี้ยงกบนาเป็นที่สนใจของเกษตรกรทั่วไป เนื่องจากกบนาเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้น้ำน้อย และใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มาก สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์และกระชัง ซึ่งอัตราการปล่อยที่เหมาะสมคือ 100 – 150 ตัว/ตารางเมตร ใช้เวลาในการเลี้ยง 3 – 4 เดือน โดยใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปจะได้กบที่มีขนาดประมาณ 200 – 250 กรัม/ ตัว ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถจับขายได้ ต้นทุนการผลิตกบนาในปัจจุบัน (วรมิตร, 2552)

  • การผลิตลูกกบหางหดคือ 1.22 บาท/ตัว
  • ต้นทุนการผลิตกบเนื้อคือ 34-94 บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นกรณีเพาะเลี้ยงเองตลอดจนจับขายพบว่า
  • การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์จะใช้ต้นทุนการผลิตคือ 33.11 บาท/กิโลกรัม
  • การเลี้ยงในกระชังจะใช้ต้นทุนการผลิตคือ 31.74 บาท/กิโลกรัม

เอกสารอ้างอิง

  • กรมประมง. ๒๕๔๘. การเพาะเลี้ยงกบ. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ. ๒๖ หน้า.
  • วรมิตร ศิลปชัย, สุวดี พิมพ์ขันธ์, ทัศนีย์ คชสีห์. ๒๕๕๒. การประเมินสภาวะ การเลี้ยงกบนาในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. ๕๗ หน้า.

บทความอื่นที่น่าสนใจ