บทความเกษตร » การปลูก มะพร้าวน้ำหอม และการดูแลรักษา

การปลูก มะพร้าวน้ำหอม และการดูแลรักษา

11 เมษายน 2023
1251   0

การปลูกมะพร้าวน้ำหอม และการดูแลรักษา

มะพร้าวน้ำหอม

มะพร้าวน้ำหอม


มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าส่งออกหลายร้อยล้านบาทต่อปี และเป็นมะพร้าวพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ปัจจุบันจัดเป็นพืชสงวนห้ามส่งออกในรูปผลแก่ น้ำมะพร้าวมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย โดยความหอมนั้นมาจากละอองเกสรตัวผู้ที่มาผสม (xenia effect) ปัญหาที่พบในการปลูกคือ ความไม่สม่ำเสมอของความหวานและความหอม ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรจึงได้ปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมโดยเน้นที่คุณภาพของผลมะพร้าวอ่อน ด้านความหอมและความหวาน จนได้ต้นแม่ที่มีลักษณะดีเด่น คือ มีความหอมและมีความหวานของน้ำมะพร้าวระหว่าง 7.6- 9.0 องศาบริกซ์ โดยต้นแม่เหล่านี้สามารถนำมาขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนให้เพียงพอแล้วเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ทันที

ลักษณะประจำพันธุ์

มะพร้าวน้ำหอม จัดเป็นมะพร้าวกลุ่มต้นเตี้ย ลำต้นมีขนาดเล็ก ใบสั้นกว่ามะพร้าวพันธุ์ไทยทั่วไป อายุการออกจั่นจะเร็ว ในปีหนึ่งๆจั่นจะทยอยออกประมาณ 15-16 จั่น หรืออาจมากกว่านั้น ในแต่ละจั่นจะติดผลอยู่ระหว่าง 10-18 ผล ปัจจัยที่ทำให้มะพร้าวน้ำหอมให้ผลผลิตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพดิน แหล่งน้ำ สภาพอากาศ และการดูแลรักษา ฯลฯ

การเลือกสภาพพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม

สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำในดินดี ควรใกล้แหล่งน้ำ ฝนตกกระจายสม่ำเสมอ และอุณหภูมิของอากาศอยู่ระหว่าง 20-29 C ปริมาณแสงแดดเฉลี่ย 7.1 ชม./วัน

ระยะปลูก

  • พื้นที่ราบทั่วไป แบบสามเหลี่ยม แบบสี่เหลี่ยมด้านเท่า ระยะ 6.0 x 6.0 , 6.5 x 6.5 เมตร
  • สภาพที่ลุ่มน้ำไม่ท่วมขัง ปลูกแบบยกร่อง ใช้ปลูกแบบแถวคู่และแถวเดี่ยว ระยะ 6.0 x 6.0 , 6.5 x 6.5 เมตร ระยะหลุมควรห่างจากขอบร่องน้ำประมาณ 2 เมตร

การเตรียมหลุมปลูก

ควรเตรียมหลุมในช่วงฤดูแล้ง หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขนาดหลุมควรกว้าง 1.0 x 1.0 x 1.0 เมตร แยกส่วนหน้าดินกับดินล่างออก ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน กันหลุมอาจรองด้วยเปลือกมะพร้าว ช่วยในกรณีที่โครงสร้างของดินโปร่ง ระบายน้ำเร็ว หรือปริมาณน้ำไม่เพียงพอ นำส่วนของดินล่างผสมปุ๋ยคอก 1 ปีบ ผสมหินร็อคฟอสเฟต 200-500 กรัม คลุกเคล้าให้ทั่วใส่กลบลงในหลุมปลูกจนเกือบเต็ม ทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก

วิธีการปลูก

หน่อพันธุ์ ควรตัดรากเดิมออกก่อนนำลงปลูกในหลุมที่ผสมดินใส่ไว้เกือบเต็ม ใช้ดินส่วนที่เหลือลงกลบหน่อพันธุ์กดดินให้แน่นแต่ไม่ควรให้ดินกลบโคนหน่อ ซึ่งดินอาจรัดโคนหน่อทำให้การพัฒนาการเจริญเติบโตช้า

การดูแลรักษาสวนมะพร้าวน้ำหอม

การใส่ปุ๋ย

  • ปีที่ 1 หลังปลูกมะพร้าวไปแล้ว 4 เดือน เริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรก โดยใช้ปุยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตราต้นละ 1 กก. + แมกนีเซี่ยมซัลเฟต 200 กรัม ครั้งที่ 2 ใส่ในอัตราเดิมในช่วงปลายฤดูฝน
  • ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตรา 2กก/ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 300 กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 1กก/ต้น/ปี
  • ปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตรา 3 กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 400 กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 2 กก/ต้น/ปี
  • ปีที่ 4 ขึ้นไป ใส่ปุ๋ย13-13-21 , 12-12-17-2 อัตรา 4 กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 500กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 2 กก/ต้น/ปี การใส่ปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอม ให้แบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง หว่านปุ๋ยรอบๆ บริเวณทรงพุ่มพรวนดินตื้นๆ กลบปุ๋ยรอบทรงพุ่ม

การให้น้ำ

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำสวนมะพร้าวน้ำหอมในฤดูแล้งหากฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกัน 1-2 เดือน ต้องมีการให้น้ำ

การกำจัดและควบคุมวัชพืช

ควรกำจัดวัชพืช จำพวกหญ้าคาและวัชพืชที่แย่งน้ำแย่งอาหารอื่นๆบริเวณรอบโคนต้นให้หมด

การเพิ่มอินทรียวัตถุ

อินทรีย์วัตถุเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ต้องการอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ควรใส่ปุ๊ยคอก ปุ้ยหมัก ร่วมกับปุยเคมีอย่างน้อยปีละครั้ง หรือปีเว้นปี ขึ้นอยู่กับสภาพดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด

แมลงศัตรูมะพร้าวและการป้องกันกำจัด

ด้วงแรด

ด้วงแรด

ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยจะเจาะใบมะพร้าวที่บริเวณโคนทางใบที่ 2 หรือที่ 3 ทะลูเข้าไปถึงยอดอ่อนตรงกลางหรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทำให้ใบมะพร้าวที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่งมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป

การป้องกันกำจัด

  • โดยวิธีเขตกรรม คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยเผาหรือฝังซากตอหรือลำต้นของมะพร้าว และเกลี่ยกองซากพืชหรือกองมูลสัตว์ ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 ซม.
  • โดยชีววิธี โดยใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) สร้างกับดักราเขียวโดย ใช้ขุยมะพร้าวที่หมักแล้วผสมกับหัวเชื้อราเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด
  • ใช้ทรายหรือสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตราสารฆ่าแมลง 1 ส่วน ต่อ ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละครั้ง หรืออาจใช้สารไล่แนพทาลีนบอล (ลูกเหม็น) อัตรา 6-8 ลูกต่อต้นโดยใส่ไว้ในซอกโคนทางใบ

ด้วงงวง

ลักษณะการทำลาย ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอมะพร้าวและพบบ้างที่โคนลำต้น ทำให้ต้นตาย อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้งใบเหลือง

ด้วงงวง

การป้องกันกำจัด

  • ป้องกันกำจัดด้วงแรดอย่าให้เข้าทำลายมะพร้าวเพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้
  • ดูแลทำความสะอาดแปลงมะพร้าว ถ้าพบมีการทำลายให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40 % EC)อัตรา 80 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ทำลายต้นมะพร้าวที่มีหนอนด้วงงวงอยู่ หรือทำลายตัวหนอน เพื่อมิให้แพร่พันธุ์ต่อไป

แมลงดำหนาม

ลักษณะการทำลาย ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงจะมองเห็นยอดเป็นสีขาวโพลนชัดเจน การระบาดทำลายได้ทั้งมะพร้าวต้นเล็กและต้นสูงที่ให้ผลผลิตล้ว

แมลงดำหนามมะพร้าว

การควบคุมและการป้องกันกำจัด

  • การควบคุมโดยชีววิธี ใช้แตนเบียน (Asecodes hispinarumBoucek ในการควบคุม โดยแตนเบียนเพศเมียจะเข้าทำลายหนอนแมลงดำหนาม
  • การใช้สารเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็วเช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงเพาะชำ หรือต้นเล็ก

การเก็บเกี่ยว

โดยทั่วไปหากมีการดูแลรักษาสวนที่ดีให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ มะพร้าวจะออกจั่นเร็ว อายุประมาณ 3 ปีเศษ ก็เริ่มทะยอยเก็บผลผลิตได้แล้ว มะพร้าวน้ำหอมจะเริ่มเก็บผลอ่อนได้เมื่ออายุ 7 เดือน หรือประมาณ 190-200 วัน น้ำมะพร้าวในระยะนี้จะหวานและหอมเนื้อจะนุ่มเหมาะต่อการบริโภค เกษตรกรชาวสวนจะสังเกตโดยดูสีผลรอบกลีบเลี้ยงมีวงสีขาวล้อมรอบเพียงเล็กน้อย หรือดูทะลายอ่อนที่อยู่เหนือเยื้องทะลายที่จะตัดมีขนาดใหญ่กว่ากำปั้นเล็กน้อย เกษตรกรบางรายจะนับวันหลังจากตัดทะลายแรกผ่านไป 20 วัน จึงเริ่มตัดทะลายถัดมา นอกจากนี้อาจใช้วิธีสังเกตหางหนู หรือดีดผล

ที่มา | ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร อ.สวี จ.ชุมพร 86130 โทรศัพท์/โทรสาร 077-556073 / 077-556026, E-mail chump1@doa.in.th


บทความอื่นที่น่าสนใจ