วันพุธ, 18 มิถุนายน 2568

การเลี้ยงผึ้งโพรง สำหรับเกษตรกรมือใหม่

การเลี้ยงผึ้งโพรง สำหรับเกษตรกรมือใหม่

การเลี้ยงผึ้งโพรง

ผึ้งโพรง เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของเมืองไทยซึ่งในธรรมชาติของผึ้งโพรง จะทำรังด้วยการสร้างรวงซ้อนเรียงกัน อยู่ในโพรงไม้หรือโพรงหิน โดยมีปากทางเข้าออกค่อนข้างเล็ก เพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก แต่ภายในจะมีพื้นที่กว้างพอให้ผึ้งสร้างรวงได้ ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่มีอัตราการแยกรังค่อนข้างบ่อย และจะทิ้งรังเดิมเมื่อสภาวะแวดล้อม ไม่เหมาะสม เช่น ขาดแคลนอาหารหรือมีศัตรูรบกวน

ฉะนั้น การเลี้ยงผึ้งโพรงให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องมีใจรักผึ้ง อดทน มีเวลา มีความรู้ในเรื่องชีววิทยาของผึ้ง พฤติกรรมของผึ้งการจัดการรังผึ้ง และอาศัยประสบการณ์ในการเลี้ยงผึ้ง เพื่อจะได้จัดการรังผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ

วงจรชีวิตของผึ้ง

  • ระยะไข่ ลักษณะของไข่จะยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร หัวท้ายมนโค้งงอเล็กน้อย มีสีขาว ไข่จะถูกวางเอาส่วนท้ายติดกับกันของหลอดรวงตั้งขึ้นมา เมื่อไข่ใกล้จะฟักก็จะล้มลงนอนอยู่ที่ก้นหลอดรวง
  • ระยะตัวหนอน เมื่อไข่มีอายุได้ประมาณ 3 วัน ก็จะฟักออกมาเป็นตัวหนอนขนาดเล็กๆ สีขาว นอนลอยอยู่บนอาหารที่ก้นหลอดรวง
  • ระยะดักแด้ ในระยะดักแด้ ตัวหนอนจะเปลี่ยนรูปร่างเห็นอวัยวะต่างๆ ชัดเจนขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนท้อง
  • ระยะตัวเต็มวัย เมื่อดักแด้โตเต็มที่จะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยซึ่งมีอวัยวะครบทุกส่วน

การเริ่มต้นเลี้ยงผึ้งโพรง

1. การล่อผึ้ง เป็นการหาพันธุ์ผึ้งโพรงโดยเลียนแบบธรรมชาติเพื่อนำพันธุ์ผึ้งโพรงที่ได้มาเลี้ยงในกล่องเลี้ยงผึ้ง โดยวิธีการนำกล่องหรือรังเลี้ยงไปวางล่อผึ้งตามธรรมชาติในสถานที่ร่มรื่นมีแหล่งน้ำและอาหารที่สมบูรณ์ เพื่อล่อผึ้งที่อพยพหนีรัง แยกรัง หรือผึ้งที่แสวงหาที่อยู่ใหม่ จะได้เข้ามาอาศัยในรังล่อผึ้งที่ตั้งล่อเอาไว้ ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายรังผึ้งโพรงนี้ไปยังสถานที่ที่ต้องการเลี้ยงหรือตัดรวงผึ้งบังคับเข้าคอนต่อไป

  • รังล่อผึ้ง วัสดุที่เหมาะสมในการทำรังล่อผึ้ง ควรทำด้วยไม้เก่าๆใบมะพร้าว ใบจาก หรือวัสดุต่างๆที่หาได้ในท้องถิ่น
  • ไขผึ้งโพรงบริสุทธิ์ ก่อนที่จะนำรังล่อผึ้งโพรงไปวางในสถานที่ที่เตรียมไว้ ให้นำไขผึ้งโพรงบริสุทธิ์มาหลอมละลายทาต้านในของฝารังล่อผึ้งเพื่อดับกลิ่นยางไม้และเป็นการกระตุ้นให้เกิดกลิ่นเสน่ห์ในการเรียกผึ้งเข้ารังล่อผึ้ง
  • สถานที่ตั้ง สถานที่ตั้งรังล่อผึ้ง ควรมีพืชอาหารสำหรับผึ้ง มีผึ้งอาศัยอยู่ เช่น ในสวนมะพร้าว, เงาะ, ทุเรียน, กาแฟ เป็นต้น และต้องเป็นสถานที่ร่มรื่น ใกล้แหล่งน้ำ ห่างจากศัตรูของผึ้ง
  • การจัดการ หมั่นตรวจดูรังล่อผึ้งอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มดแมลงสาบ แมงมุม ปลวก และศัตรูอื่น ๆ เข้าไปในรังล่อผึ้ง ขาตั้งรังล่อผึ้งหรือ เสารังล่อผึ้งควรใช้เสาไม้ที่มีระดับความสูงประมาณ 1 เมตร และใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบเสา เพื่อป้องกันมดและแมลง

วัสดุอุปกรณ์การจับและการบังคับผึ้งโพรงเข้าคอน

การเลี้ยงผึ้งโพรง

2. การบังคับผึ้งเข้าคอน คือ การนำผึ้งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติเช่น โพรงไม้ ซอกหิน ชายคาบ้าน ที่อื่นๆ หรือผึ้งที่ได้จากรังล่อผึ้ง นำมาตัดรวงบังคับเข้าคอนแล้วนำไปวางเลี้ยงในกล่องเลี้ยงผึ้งที่เตรียมไว้ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน ดังนี้

  • การเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม ผู้ปฏิบัติงานจะต้องแต่งกายชุดจับผึ้งให้รัดกุม
  • ลักษณะของรังผึ้งที่เข้าคอนได้ รังจะต้องสมบูรณ์ คือ มีน้ำผึ้ง เกสร ไข่ หนอน ดักแด้ และมีประชากรผึ้งที่หนาแน่น ลักษณะรวงรังมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 วัน รวงผึ้งประมาณ 5 – 8 รวง
  • ใช้เครื่องพ่นควันพ่นใส่รังผึ้งเบา ๆ โดยยืนด้านข้างรัง ไม่ยืนหน้ารัง แล้วเปิดฝารังผึ้งออก
  • ทำการตัดรวงผึ้งทีละรวง จากชั้นนอกออกก่อน ด้วยมีดบางๆ หรือคัตเตอร์
  • นำรวงผึ้งที่ตัดมาเข้าคอน โดยการทาบรวงผึ้งกับคอนที่ขึงลวดแล้ว 1 รวง/1 คอน แล้วใช้มีดกรีดที่รวงผึ้ง ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาของรวงผึ้งตามแนวเส้นลวด และกดเส้นลวดลงเข้าไปตรงกึ่งกลางของรวงผึ้งที่กรีดร่องไว้แล้ว
    x
  • นำรวงผึ้งที่เข้าคอนเรียบร้อยแล้วไปวางในกล่องเลี้ยงผึ้งที่เตรียมไว้ เรียงลำดับของรวงผึ้งตามธรรมชาติ (ทำตามข้อ 2.4 – 2.6 ทุกๆ คอน ตามลำดับชั้นของรวงผึ้ง)
  • จับนางพญาผึ้งใส่กลักขัง นำไปแขวนในกล่องเลี้ยงผึ้งตรงกลางระหว่างคอน (โดยขณะตัดรวงแต่ละรวง ก็หานางพญาไปพร้อมๆกันด้วย)
  • นำกล่องเลี้ยงผึ้งใหม่ที่ได้ ไปวางไว้บริเวณที่เดิมก่อน 1 – 3 วัน แล้วค่อยปล่อยนางพญาผึ้ง ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายกล่องเลี้ยงผึ้งไปไว้ในที่ต้องการเลี้ยงต่อไป

อุปกรณ์ในการเลี้ยงผึ้งโพรง

  • รังล่อผึ้งโพรง ผู้เลี้ยงผึ้งโพรงจะต้องใช้รังล่อควบคู่ไปกับการเลี้ยงตลอดเวลาเพื่อป้องกันผึ้งหนีรังหรือแยกรัง ขนาดรังล่อไม่จำกัดขนาดแล้วแต่ผู้เลี้ยงจะกำหนดขนาดแต่ถ้าหากสามารถทำได้ ควรทำเท่ากับรังเลี้ยงเพื่อใช้ทดแทนกันได้ยามรังเลี้ยงไม่พอ
  • ไขผึ้ง ใช้สำหรับทาฝารังล่อเพื่อล่อให้ผึ้งเข้ารังล่อ
  • เครื่องพ่นควัน เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่นักเลี้ยงผึ้งทุกคนจะต้องมีและนำไปใช้ทุกครั้งเวลาทำงานอยู่กับรังผึ้ง โดยใช้เชื้อเพลิงจากพวกกากมะพร้าวแห้ง หรือใช้ใบไม้ ใบหญ้าแห้ง ๆ ก็ได้

4. รังเลี้ยงผึ้งมาตรฐานกรมส่งเสริมการเกษตร

  • ความหนาของแผ่นไม้    1.4 ชม.
  • ความสูง    25  ชม.
  • ความยาวภายนอก   53.50 ชม.
  • ความยาวภายใน    50.70 ชม.
  • ความกว้างภายนอก   30.50 ชม.
  • ความกว้างภายใน   27.70 ชม.

การเก็บน้ำผึ้ง

การเก็บน้ำผึ้งควรเก็บในช่วงที่มีน้ำผึ้งปริมาณมากๆ น้ำผึ้งที่ได้ต้องมีความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 21

  • การเก็บน้ำผึ้งจากรังล่อ ผึ้งจะสร้างรวงอยู่ใต้ฝารังหงายฝารัง ตัดเอาเฉพาะรวงน้ำผึ้ง ส่วนรวงตัวอ่อนและดักแด้ให้นำเข้าคอนแล้วเก็บไว้ในรัง นำส่วนที่เป็นน้ำผึ้งมาสับลงบนตะแกรงกรองสแตนเลส เพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมาแล้วกรองน้ำผึ้งให้สะอาด
  • การเก็บน้ำผึ้งจากรังที่นำรวงผึ้งใส่คอน
    • ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำผึ้งแล้วนำไปสับบนตะแกรงเพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมา แล้วกรองน้ำผึ้งให้สะอาด
    • ในกรณีมีถังสลัด นำรวงที่มีน้ำผึ้งมาปาดไขผึ้งที่ปิดหลอดรวงออกทั้งสองด้านแล้วนำไปใส่ถังสลัดน้ำผึ้งแรงเหวี่ยงจะทำให้น้ำผึ้งกระเด็นออกมา กรองด้วยที่กรองสแตนเลส

หมายเหตุ : ควรกรองด้วยผ้ากรองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน แล้วนำไปบรรจุในภาชนะที่สะอาด มีฉลากที่บ่งบอกครบถ้วนและสวยงาม

การป้องกันผึ้งต่อย

  • ใช้กระป้องพ่นควัน ควันช่วยลดความดุของผึ้งลงได้วัสดุที่ใช้ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย หรือกาบมะพร้าว เป็นต้น
  • ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือยาง และหมวกตาข่ายผึ้งก็ไม่สามารถต่อยได้

ที่มา : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรwww.sarakaset.com


บทความอื่นที่น่าสนใจ